วิตามิน B1

 vitamin-b1    วิตามินบี 1 หรือ ไธอะมีน ( thiamine ) เป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต มีหน้าที่สำคัญ คือ เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาในการเผาผลาญสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตเพื่อให้เกิดพลังงาน ช่วยในการนำออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ช่วยเจริญอาหาร ทำให้ระบบย่อยและระบบขับถ่ายดีขึ้น จึงสามารถป้องกันท้องผูกได้ ช่วยให้กล้ามเนื้อทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยในการเจริญเติบโต การสืบพันธ์ และการผลิตน้ำนม นอกจากนี้ยังช่วยการทำงานของระบบประสาท
              
       แหล่งที่พบ
       ร่างกายมนุษย์ไม่สามารถสังเคราะห์วิตามินบี 1 ได้ จำเป็นต้องได้รับจากอาหาร ซึ่งพบมากในเนื้อหมู ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต ยีสต์ ถั่วเมล็ดแห้ง งา ธัญพืชที่ไม่ได้ขัดสี ไข่ นม ตับ


       ปริมาณที่แนะนำ
       
       แต่ละคนจะมีความต้องการวิตามินบี 1 ในปริมาณที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้าน เช่น เพศ น้ำหนักตัว ดังนี้ ผู้ชาย 1.2-1.4 มิลลิกรัมต่อวัน ผู้หญิง 1.0-1.1 มิลลิกรัมต่อวัน เด็ก 0.6-1.0 มิลลิกรัมต่อวัน สตรีตั้งครรภ์ 1.4-1.5 มิลลิกรัมต่อวัน สตรีให้นมบุตร 1.5-1.6 มิลลิกรัมต่อวัน


       สาเหตุของการขาดวิตามินบี 1


       1. การรับประทานวิตามินบี 1 ไม่เพียงพอต่อความต้องการ อาจเกิดจากความอดอยาก หรือการรับประทานอาหารไม่ถูกสัดส่วน


       2. การรับประทานอาหารที่มีสารต้านฤทธิ์ของวิตามินบี 1 ซึ่งมี 2 ประเภท ได้แก่
       – สารต้านฤทธิ์ที่ไม่ทนต่อความร้อน ได้แก่ น้ำย่อยไธอะมิเนส พบได้ในอาหารจำพวกปลาน้ำจืด ปลาร้า และหอยลาย ถ้ากินอาหารพวกนี้ดิบๆ จะทำให้น้ำย่อยทำลายวิตามินบี 1 โดยตรง
       – สารต้านฤทธิ์ที่ทนต่อความร้อน ได้แก่ กรดแทนนิก กรดคาเฟอิก ซึ่งพบใน ชา กาแฟ ผักและผลไม้บางชนิด เช่น ใบชา ใบเมี่ยง หมาก พลู สารเหล่านี้จะไปรวมกับวิตามินบี 1 ทำให้เสียโครงสร้างไป ถึงแม้สารพวกนี้จะผ่านความร้อนแล้วก็ตาม แต่ก็ยังสามารถทำลายวิตามินบี 1 ได้
       
       3. ภาวะที่มีการเพิ่มเมตาบอลิซึ่มของร่างกาย จะมีการสลายตัวของคาร์โบไฮเดรตเพิ่มขึ้น ความต้องการวิตามินบี 1 จึงสูงขึ้นด้วย ภาวะดังกล่าวได้แก่
       – ภาวะทางสรีระวิทยา ได้แก่ เด็กในวัยเจริญเติบโต หญิงมีครรภ์ หญิงให้นมบุตร และการทำงานหนัก
       – ภาวะทางพยาธิวิทยา ได้แก่ โรคติดเชื้อ หรือมีความเจ็บป่วยต่างๆ ได้แก่ การผ่าตัด ภาวะเครียด ภาวะต่อมธัยรอยด์ทำงานมาก


       4. การลดการดูดซึมวิตามินบี 1 จากลำไส้ หรือการสูญเสียวิตามินบี 1 เช่นในกรณีผู้ป่วยโรคตับ การใช้ยาขับปัสสาวะ และภาวะท้องร่วง เป็นต้น
       
       ผลของการขาด
       
       เมื่อขาดวิตามินบี 1 จะส่งผลให้เกิดโรคเหน็บชา อาจมีสัญญาณเตือนคืออาการเบื่ออาหาร ตามมาด้วยอาการท้องผูก มีความผิดปกติทางระบบประสาทและกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย คือกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียกไม่มีแรง ผิวหนังไม่มีความรู้สึก เป็นอัมพาตตามแขนขา อาจมีอาการบวมตามตัวแขนขา ความจำไม่ดี นอนไม่หลับ มีอาการทางหัวใจ เช่น คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ หัวใจบวมโต หรืออาจทำให้เกิดหัวใจล้มเหลว
       
       ผลของการได้รับมากเกินไป
       
       
วิตามินบี 1 เป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ จึงไม่มีการสะสมในร่างกาย โดยจะขับออกทางปัสสาวะ จึงมักไม่ปรากฏอาการเป็นพิษ การบริโภควิตามินบี 1 ปริมาณสูงเกินความต้องการของร่างกายจะไม่ถูกดูดซึมและถูกขับออกมาทางปัสสาวะเกือบหมดภายใน 4 ชั่วโมง
       สารหรืออาหารที่เสริมฤทธิ์ของวิตามินบี 1 ได้แก่ วิตามินบีรวม วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 กรดโฟลิก วิตามินอี แมงกานีส กำมะถัน และวิตามินซี
       
       การเก็บรักษาคุณค่าทางอาหาร
       
       อาหารที่มีการเคี่ยวหรือใช้ความร้อนนานๆ มีการแช่น้ำนานๆ หรือมีการผสมกับด่าง เช่น โซดา ผงฟู จะทำให้สูญเสียวิตามินบี 1 การหุงข้าวโดยการซาวน้ำทิ้งหลายๆ ครั้ง ก็ทำให้สูญเสียวิตามินบี 1 เพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงควรเลือกข้าวที่สะอาด เพื่อจะได้ไม่ต้องซาวน้ำทิ้งหลายๆ ครั้ง
       
       การย่างหรืออบอาหารจำพวกเนื้อสัตว์อาจสูญเสียวิตามินบี 1 ไม่เกิน 25 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่การต้มหรือลวกเนื้อแล้วทิ้งน้ำไป จะทำให้สูญเสียวิตามินสูงถึง 50เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้ารับประทานทั้งเนื้อและน้ำด้วย จะสูญเสียวิตามินไปประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น การต้มผักในน้ำน้อยๆ ให้สุกโดยเร็ว จะสูญเสียวิตามินน้อยกว่าการต้มนานๆ ในน้ำมากๆ ไม่ว่าจะเป็นวิตามินบีหรือวิตามินซี

(เริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ดีกว่า ..คลิก..เลยครับ)

2 Responses

  1. Vitamin Thailand แหล่งข้อมูลและความรู้วิตามินที่จำเป็นต่อสุขภาพ

ใส่ความเห็น